06 มีนาคม 2567

เช่าซื้อรถจักรยานยนต์

                      

       ถูกฟ้องคดีเช่าซื้อรถจักรยานยนต์                

                      การเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และเอาไปขายต่อ หรือเอาไปให้คนอื่นใช้งาน หากไม่ส่งค่างวด ผู้ให้เช่าซื้อก็จะตามมาทวงค่างวดรถยังภูมิลำเนาของผู้เช่าซื้อเพื่อดูว่ารถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อมายังอยู่หรือไม่ หากหารถไม่เจอและผู้เช่าซื้อไม่ยอมชำระค่างวดรถที่ค้างชำระ ผู้ให้เช่าซื้อก็จะฟ้องเป็นคดีอาญาในฐานความผิด ยักยอกรถจักรยานยนต์ หรือฉ้อโกง มีโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้เช่าซื้อรถก็จะตกเป็นจำเลยคดีอาญา จะอยู่เฉยทำตัวไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย เหมือนคดีแพ่งไม่ได้ ดังนี้แล้วผู้เช่าซื้อรถเพื่อไปขายต่อพึงระวังไว้

                      แต่ก็มีทางออกที่ผู้เช่าซื้อรถไม่ต้องติดคุก เพราะคดีอาญาฐานความผิด ยักยอก หรือฉ้อโกง เป็นความผิดที่ยอมความกันได้ เมื่อถูกผู้ให้เข่าซื้อเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา ผู้เช่าซื้อจะตกเป็นจำเลยต้องไม่ทำเฉยหรือหลบหนี ต้องไปศาลเพื่อพูดคุยกับโจทก์ จะขอชำระค่างวดที่ค้างชำระทั้งหมดหรือผ่อนชำระก็ได้ โจทก์เองก็ไม่อยากให้ผู้เช่าซื้อหรือจำเลยติดคุก ที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีอาญาก็เพื่อบีบบังคับให้ผู้เช่าซื้อเข้ามาเจรจาและชำระเงินค่าเช่าซื้อรถที่ค้างชำระเท่านั้น โดยปกติโจทก์จะให้ผ่อนชำระค่างวดรถที่ค้างชำระเดือนละเท่า ๆ กัน แต่ต้องชำระให้หมดภายใน 24 เดือน

                      ในกรณีผู้เช่าซื้อค้างค่างวดรถ ผู้ให้เช่าซื้อจะตามมาทวงค่างวดรถยังภูมิลำเนาของผู้เช่าซื้อและหากเห็นว่ารถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อยังอยู่ และผู้เช่าซื้อไม่ยอมชำระค่างวดรถที่ค้างชำระ ผู้ให้เช่าซื้อก็จะฟ้องเป็นคดีแพ่ง ผู้เช่าซื้อจะตกเป็นจำเลยจะอยู่เฉย ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย และไม่ไปศาล ก็ย่อมทำได้ แต่เมื่อมีคำพิพากษาที่สุดแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อซึ่งเป็นโจทก์ก็จะสืบทรัพย์ของจำเลยและบังคับคดีขายทอดตลาดเอง ถึงตอนนี้จำเลยที่มีที่ดินเป็น นส3.ก หรือโฉนดที่ดิน ก็จะอยู่เฉยไม่ได้แล้ว


14 ธันวาคม 2565

เอกสารหลักฐานการยื่นประกันตัว

เอกสารหรือหลักฐานการยื่นประกันตัวจำเลยในศาล

            เมื่อศาลรับฟ้องคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดี ผู้ต้องหาจะตกเป็นจำเลยทันที หรือกรณีที่ประชาชนฟ้องคดีอาญาเองภายหลังจากที่ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วศาลมีคำสั่งว่าคดีมีมูลและศาลประทับรับฟ้องผู้ต้องหาจะตกเป็นจำเลยทันที คดีอาญานั้นมีโทษจำคุก หากจำเลยไม่ประกันตัวก็ต้องถูกคุมขังในเรือนจำจนกว่าการพิจารณาคดีจะเสร็จสิ้น แต่หากจำเลยต้องการจะประกันตัวโดยไม่ต้องถูกคุมขังก็สามารถทำได้ โดยมีหลักฐานการประกันตัว รายละเอียดดังต้อไปนี้

         กรณีใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด

            1. สำเนาบัตรประชาชนของจำเลย ของผู้ขอประกัน ถ่ายเอกสาร 1 ชุด

            2. สำเนาทะเบียนบ้านของจำเลย ของผู้ขอประกัน ถ่ายเอกสาร 1 ชุด


        กรณีใช้หลักทรัพย์เป็นที่ดิน

            1. โฉนดที่ดิน หรือ น.ส. 3 ก. พร้อมราคาประเมินในปีปัจจุบัน (ราคาประเมินไม่เกิน 1 เดือน)

            2. สำเนาบัตรประชาชนของจำเลย ของผู้ขอประกันและคู่สมรสของผู้ขอประกัน  ถ่ายเอกสาร 1 ชุด

            3. สำเนาทะเบียนบ้านของจำเลย ของผู้ขอประกันและคู่สมรสของผู้ขอประกัน ถ่ายเอกสาร 1 ชุด

            4. นำคู่สมรสของผู้ขอประกันมาลงชื่อให้ความยินยอมที่ศาล

            5. กรณีที่คู่สมรสไม่สามารถมาเซ็นชื่อยินยอมที่ศาลได้ต้องมีหนังสือยินยอมมายื่นต่อศาลด้วย (รับแบบฟอร์มหนังสือให้ความยินยอมที่ศาล)

            6. เขียนแผนที่ที่ตั้งทรัพย์ที่นำมาประกัน (ต้องบอกจุดใกล้เคียงที่ตั้งทรัพย์ให้สามารถเดินทางไปถึงที่ตั้งทรัพย์ได้)

            7. รูปถ่ายที่ตั้งทรัพย์ให้มีรูปผู้ขอประกันด้วย ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน

    *** หมายเหตุ กาณีใช้หลักทรัพย์มาประกัน หากจำเลยผิดสัญญาประกันและศาลได้มีการยึดทรัพย์ขายนำเงินมาชำระหนี้ หากเงินไม่พอศาลมีอำนาจยึดทรัพย์อื่นของนายประกันมาชำระหนี้จนกว่าจะครบค่าปรับ


        กรณีใช้ตำแหน่ง

            1. หนังสือรับรองจากต้นสังกัดแสดงฐานะตำแหน่งและอัตราเงินเดือน ถ้าเป็นข้าราชการครูขอจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเท่านั้น พร้อมรับรองสำเนา 1 ชุด

            2. สลิปเงินเดือนเดือนสุดท้าย 1 ชุด

            3. สำเนาบัตรประชาชนของจำเลย ของผู้ขอประกันและสำเนาบัตรข้าราชการและสำเนาบัตรคู่สมรสของผู้ขอประกัน ถ่ายเอกสาร 1 ชุด

            4. สำเนาทะเบียนบ้าน ถ่ายเอกสาร 1 ชุด

            5. นำคู่สมรสของผู้ขอประกันมาลงชื่อยินยอมที่ศาล

            6. กรณีที่คู่สมรสไม่สามารถมาเซ็นชื่อยินยอมที่ศาลได้ต้องมีหนังสือยินยอมมายื่นต่อศาลด้วย (รับแบบฟอร์มหนังสือให้ความยินยอมที่ศาล)

            7. เขียนแบบฟอร์มรับรองความผูกพันกับจำเลยและรายได้

            8. ในกรณีที่ใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกัน ผู้ขอประกันต้องแสดงหลักทรัพย์อื่นต่อศาลโดยแนบสำเนาหลักทรัพย์อื่น ๆ เช่น โฉนดที่ดิน น.ส.3 ก. สำเนาคู่มือรถยนต์ จักรยานยนต์ สำเนาสมุดเบัญชีเงินฝากธนาคาร ซึ่งต้องเป็นของผู้ขอประกันเท่านั้น

            9. ในกรณีที่ใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกัน ผู้ขอประกันต้องมีความเกี่ยวข้องเป็นญาติกับจำเลยโดยเกี่ยวพันธ์โดยสายเลือด หรือทางสมรสเท่านั้น หากกรณีเป็น สท สจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประกันจำเลยได้เฉพาะผู้ที่อยู่ในท้องที่การปกครองของตนเท่านั้น


12 ธันวาคม 2565

คำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมดก

 ตัวอย่างคำสั่งศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก

                ในการยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องอาจยื่นบัญชีทรัพย์สินของผู้ตายให้ศาลพิจารณากี่อย่างก็ได้ ตัวอย่าง เช่น ผู้ตายมีโฉนดที่ดิน 2 แปลง แต่ในการยื่นต่อศาลนั้นจะยื่นเพียง 1 แปลงหรือ 2 แปลงก็ได้ เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว คำสั่งศาลจะครอบคลุมไปถึงทรัพย์สินของผู้ตายทุกอย่างทั้งที่ตรวจพบในปัจจุบันหรือตรวจพบในอนาคต



04 ธันวาคม 2565

การจัดการมรดก

คุณสมบัติของผู้จัดการมรดก

                 คุณสมบัติและความสามารถของผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดก

                    ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 1718 บุคคลเหล่านี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้

                    1. ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ 

                    2. บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ

                    3. บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย

                จากบทบัญญัติดังกล่าวนั้น คำว่าบุคคลวิกลจริต ตามความหมายทั่วไปที่คนรู้จักคือ คนบ้าไม่สบประกอบ ส่วนบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถนั้นให้รวมถึงบุคคลซึ่งไร้ความสามารถ คือบุคคลผู้ไม่สามารถประกอบกิจการงานใด ๆ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง และบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลายให้รวมถึงผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวด้วย


เจ้ามรดก

             คำว่า เจ้ามรดก ก็คือ ผู้ที่ถึงแก่ความตายและมีทรัพย์มรดกทิ้งไว้ให้ทายาท ซึ่งทายาทนั้นก็มีอยู่สองชนิดคือ ทายาทตามกฎหมายและทายาทโดยพินัยกรรม

                1. ทายาทตามกฎหมาย มี 6 ลำดับ คือ (ทายาทในทางกฎหมายแพ่ง )

                    1.1 ผู้สืบสันดาน หมายถึงบุตรของเจ้ามรดก

                    1.2 บิดามารดา

                    1.3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

                    1.4 พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

                    1.5 ปู่ ย่า ตา ยาย

                    1.6 ลุง ป้า น้า อา

                ส่วนคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นทายาทโดยธรรมเช่นกัน

                2. ทายาทโดยพินัยกรรม คือบุคคลที่เจ้ามรดกใด้ทำพินัยกรรมและยกทรัพย์มรดกให้บุคคลนั้น เป็นใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นญาติ พี่น้อง ทายาทโดยพินัยกรรมนั้นมีสิทธิได้รับมรดกเฉพาะทรัพย์ที่เจ้ามรดกระบุไว้ในพินัยกรรมเท่านั้น


การแบ่งทรัพย์มรดก

             เมื่อเจ้ามรดกได้เสียชีวิตลง ทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตจะตกแก่ทายาทโดยผลของกฎหมายทันที เนื่องจากทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับ แต่ละคนจะมีสิทธิได้รับมรดกเท่าใหร่นั้น มีหลายกรณี เช่น

            กรณีที่ 1. เจ้ามรดกแต่งงานจดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน คู่สมรสยังมีชีวิตอยู่ บิดามารดาของเจ้ามรดกเสียชีวิตแล้ว ผู้มีสิทธิได้รับมรดกคือ คู่สมรสและบุตรทุกคนได้เท่ากัน ๆ กัน

                    ตัวอย่าง เจ้ามรดกมีคู่สมรส และบุตร 2 คน ดังนั้นจึงมีทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก 3 คน ได้รับเท่า ๆ กัน

            กรณีที่ 2. เจ้ามรดกแต่งงานจดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน คู่สมรสยังมีชีวิตอยู่ บิดามารดาของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ผู้สิทธิได้รับมรดกคือ บิดามารดาของเจ้ามรดก คู่สมรส และบุตรทุกคนได้เท่ากัน ๆ กัน

                ตัวอย่าง บิดามาดา (1 ส่วน) คู่สมรส (1 ส่วน) และบุตร 2 คน (คนละ 1 ส่วน) เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก

            กรณีที่ 3. เจ้ามรดกแต่งงานจดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน คู่สมรสเสียชีวิตแล้ว บิดามารดาของเจ้ามรดกเสียชีวิตแล้ว ผู้มีสิทธิได้รับมรดกคือบุตรทุกคนได้รับเท่า ๆ กัน  

            กรณีที่ 4. เจ้ามรดกแต่งงานจดทะเบียนสมรส คู่สมรสยังมีชีวิตอยู่ ไม่มีบุตรด้วยกัน บิดามารดาของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ผู้สิทธิได้รับมรดกคือ คู่สมรสได้รับ 1 ส่วน บิดามารดาได้รับ 1 ส่วน

            กรณีที่ 5. เจ้ามรดกแต่งงานจดทะเบียนสมรส คู่สมรสไม่มีชีวิตอยู่ ไม่มีบุตรด้วยกัน บิดามารดาของเจ้าของมรดกยังมีชีวิตอยู่ ผู้สิทธิได้รับมรดกคือ บิดามารดาได้รับทรัพย์มรดกทั้งหมด

            กรณีที่ 6. เจ้ามรดกไม่มีคู่สมรส ไม่มีบุตร บิดามารดาเสียชีวิต มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ผู้สิทธิได้รับมรดกคือ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ได้รับเท่า ๆ กัน

            กรณีที่ 7. เจ้ามรดกเป็นบุตรของบิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกัน บิดามารดายังมีชีวิตอยู่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ผู้สิทธิได้รับมรดกคือ บิดามารดาได้รับ 1 ส่วน พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันได้รับคนละ 1 ส่วน

            หมายเหตุ  

                    - คู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก็มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย หากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างเป็นสามีภรรยากัน

                    - บุตรของบิดาที่เกิดจากคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันจะไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกเลย

                    - บุตรของบิดาที่เกิดจากคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส จะมีสิทธิได้รับมรดกต่อเมื่อบิดาได้จดทะเบียนรับรองบุตร หรือศาลมีคำสั่งให้เป็นบุตรของผู้ตาย

                    - คำว่า " บิดามารดา " หมายถึง 

                            1. ทั้งบิดาและมารดายังมีชีวิตอยู่มีสิทธิได้รับมรดก 1 ส่วน หรือ

                            2. บิดายังมีชึวิตอยู่ หรือมารดายังมีชีวิตอยู่ มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก 1 ส่วน


การรับรองบุตร

                เมื่อชายและหญิงอยู่กินกันฉันสามีภรรยาหรือแต่งงานกันโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน บุตรที่เกิดมามีสถาณะเป็นบุตรของฝ่ายหญิงเท่านั้น มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของมารดา ในทางกฎหมายแพ่งไม่ถือว่าเป็นบุตรของบิดาเนื่องจากบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน บุตรจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของบิดา

                บุตรซึ่งเกิดจากบิดามารดาที่มิได้จดทะเบียนสมรสกันก็มีสิทธิได้รับมรดกของบิดาได้ แม้ว่าบิดาไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร แต่บิดาให้ใช้นามสกุล ส่งเสียให้เล่าเรียนให้ได้รับการศึกษา เลี้ยงดูและแสดงออกต่อ  บุคลภายนอกว่าเป็นบุตรมาโดยตลอด ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นการรับรองบุตรโดยพฤติการณ์แล้ว ทำให้บุตรนั้นเป็นทายาทโดยธรรมของบิดาผู้ตายด้วย จึงมีสิทธิได้รับมรดกภายหลังจากบิดาเสียชีวิตแล้ว

                ส่วนบุตรที่เกิดจากคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก็มีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเช่นกัน ถ้าบิดาจดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตรถูกต้องตามกฎหมาย


ทายาทอยู่ไกลไม่สะดวกมาให้ความยินยอมในการจัดการมรดก

                     ปัญหาอย่างหนึ่งในการยื่นคำร้องของจัดการมรดก คือ ทายาทผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดกของผู้ตายอยู่ใกล เช่น อยู่ต่างจังหวัด หรืออยู่ต่างประเทศหรือไม่สะดวกมาเซ็นหนังสือให้ความยินยอม มีวิธีแก้ไขโดย

                    1. หากทายาทอยู่ในเมืองไทย ให้ทายาทผู้นั้นส่งเอกสารมาทางไปรษณีย์ โดยให้ทายาทคนนั้นถ่ายสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมเขียนรายละเอียดลงไปในสำเนาเอกสารนั้น ตัวอย่าง " ข้าพเจ้า สามชาย เจริญดี ยินยอมให้ นางสมหญิง เจริญดี มารดาของข้าพเจ้า เป็นผู้จัดการมรดกขอบิดาได้ และมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลได้ทั้งสิ้น..... " ประมาณนี้ 

                    2. กรณีทายาทอยู่ต่างประเทศและสามารถติดต่อได้ ก็ให้ทายาทคนใดคนหนึ่งส่งอีเมล หรือส่งไลน์ หรือใช้สื่อโซเซียลไปถาม แล้วให้ทางทายาทคนนั้นตอบกลับมา จากนั้นเราก็พิมพ์เอกสารตอบกลับนั้นแนบส่งให้ศาลไปด้วย


ยักยอกทรัพย์มรดก

                     มีผู้คนไม่น้อยที่เข้าใจผิดคิดว่า การเป็นผู้จัดการมรดกนั้นคือผู้มีสิทธิได้รับมรดกผู้ตายทั้งหมด จะทำอย่างไรกับทรัพย์มรดกก็ได้ จะโอนให้ใคร จะขายให้ใคร ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด จึงทำให้ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกคนอื่นยื่นคำร้องหรือฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลข้อหายักยอกทรัพย์มรดก แล้วศาลก็พิพากษาให้ผู้จัดการมรดกต้องโทษจำคุก เพราะความโลภมาก็เยอะ 

                    ตัวอย่างของการที่ผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์มรดกไปจากกองมรดก เช่น ไปโอนที่ดินเป็นชื่อผู้จัดการมรดกในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วก็โอนเป็นชื่อของตนเองอีกทีแล้วขายไปเลย หรือขายในฐานะผู้จัดการมรดกให้คนอื่นไปเลย พอได้เงินมาแทนที่จะแบ่งให้ทายาทคนอื่นกลับไม่แบ่ง หรือโอนไปให้ลูกหลานของตัวเองไม่สนทายาทคนอื่นที่มีสิทธิ แบบนี้มักจะถูกทายาทคนอื่นฟ้องคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ข้อหายักยอกทรัพย์มรดกได้

                    "มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

                    กรณี้นี้ทายาทคนอื่นก็มักใช้เป็นข้ออ้างในการร้องถอดถอนผู้จัดการมรดกคนเดิมได้ด้วย และยังฟ้องคดีกำจัดไม่ให้รับมรดกอีกด้วย

                    จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนที่ได้ว่าความคดีมาคู่ความมักตกลงกันได้ เนื่องจากคู่ความในคดีเป็นพี่น้องเป็นเครือญาติกัน และศาลเองก็ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งกัน ไม่อยากมีคำสั่งหรือคำพิพากษาไปทางทางใดทางหนึ่งเพราะไม่เป็นผลดีต่อพี่น้อง เครือญาติที่ต้องเกิดความขัดแย้งกันไปตลอดหากศาลได้มีคำสั่งหรือพิพากษา จึงให้คู่ความพูดคุยตกลงกัน

                    ดังนั้นผู้จัดการมรดกต้องเข้าใจและพึ่งระวังอยู่เสมอว่าการเป็นผู้จัดการมรดกนั้นเป็นเพียงผู้มีหน้าที่จัดการมรดกของเจ้ามรดกเท่านั้น แม้ตนเองจะมีสิทธิในมรดกนั้นก็ให้ได้รับเพียงส่วนที่ตนพึ่งมีสิทธิได้รับเท่านั้น ทำหน้าที่ของตนตามที่ทายาทคนอื่นให้ความไว้วางใจ ไม่โลภมากอยากได้ส่วนของทายาทคนอื่น ก็จะไม่เกิดปัญหาตามมา

 

03 ธันวาคม 2565

การยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 39 (2)

 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39

มาตรา 39  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้

               (1) โดยความตายของผู้กระทำผิด

               (2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย

               (3) เมื่อคดีเลิกกันตามมาตรา 3๗

               (4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง

               (5) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น

               (6) เมื่อคดีขาดอายุความ

               (7) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ


มาตรา 39 (2) ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
            การยอมความกันในคดีแพ่ง โดยไม่ได้ตกลงให้ความรับผิดอาญาระงับหรือสละสิทธิในการ
ดำเนินคดีอาญาด้วย ไม่ถือว่าเป็นการยอมความกันในคดีอาญา หรือการที่ผู้เสียหายกำหนดเงื่อนไขให้
จำเลยปฏิบัติตามก่อน จึงยอมความกันนั้น ไม่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ
            การยอมความเป็นการที่ผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดต่างตกลงยินยอมระงับข้อพิพาท
ระหว่างกัน คดีความผิดอันยอมความได้นั้นจะยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้

        หลักเกณฑ์การยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้อง
ระงับไป มีดังนี้
            1. สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับเฉพาะ คดีความผิดต่อส่วนตัว สำหรับข้อหาที่มิใช่
ความผิดต่อส่วนตัว สิทธิคดีอาญามาฟ้องหาระงับไปไม่ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือศาล
แล้วแต่กรณี ยังคงมีอำนาจดำเนินคดีต่อไปได้
           2. ข้อตกลงยอมความจะต้องปรากฏว่าผู้เสียหายมีเจตนาจะมิให้จำเลยผู้กระทำความผิดต้อง
รับโทษอาญา ข้อตกลงยอมความต้องชัดเจ้งว่าผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความหรือสละสิทธิในการ
ดำเนินคดีอาญาต่อจำเลยแล้ว หรือพฤติการณ์แห่งคดีอาจแสดงว่าเป็นการยอมความกันแล้ว แม้ใน
สัญญาจะมิได้มีข้อความโดยชัดแจ้งว่าในคดีอาญาเป็นอันระงับไปก็ตาม แต่ถ้าตามพฤติการณ์แห่งคดี
พอถือได้ว่าผู้เสียหายและจำเลยทำสัญญาโดยมุ่งประสงค์ให้ข้อหาทางอาญาระงับด้วย ก็ถือว่าเป็นการ
ยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดต่อส่วนตัวระงับไป


 


13 พฤศจิกายน 2565

คำพิพากษาศาลฎีกา ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145

        คำพิพากษาศาลฎีกา ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90 และ 145            

         ฎีกาที่ 272/2565 (ประชุมใหญ่) เมื่อตามกฎหมายเดิม มาตรา 15 ประกอบมาตรา 66 บัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นโดยถือเอาเพียงปริมาณของยาเสพติดเป็นสำคัญ แต่กฎหมายใหม่ มาตรา 145 บัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นโดยถือเอาพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ในการกระทำผิดเป็นสำคัญ ไม่ได้ถือเอาเพียงปริมาณดังเช่นกฎหมายเดิมอีกต่อไป แม้ปริมาณที่มากขึ้นอาจบ่งชี้ถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ได้ระดับหนึ่งก็ตาม เมื่อปริมาณยาเสพติดที่มากขึ้นอาจบ่งชี้ได้ถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่อยู่ในตัวกฎหมายใหม่จึงไม่ได้ยกเลิกความผิดตามมาตรา 66 วรรคสอง และวรรคสาม ไปเสียทีเดียว แต่เมื่อกฎหมายใหม่ไม่ได้ให้ศาลลงโทษหนักขึ้นเพียงเพราะปริมาณยาเสพติดให้โทษดังเช่นในกฎหมายเดิม แต่ต้องมีพฤติการณ์และบทบาทหน้าที่ตามที่กฎหมายใหม่กำหนดไว้ด้วย จึงจะมีความผิดตามกฎหมายใหม่ มาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสามได้ ดังนั้น ถ้าผู้กระทำผิดมีพฤติการณ์หรือบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายใหม่ มาตรา 145 วรรคสองหรือ วรรคสาม ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทความผิดตามมาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสาม ได้ แต่ถ้ายาเสพติดให้โทษมีปริมาณถึงตามกฎหมายเดิม มาตรา 66 วรรคสองหรือวรรคสาม แต่ผู้กระทำผิดไม่มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายใหม่ มาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสาม ศาลย่อมไม่อาจปรับบทความผิดตามมาตรา 145 วรรคสอง หรือวรรคสามได้ คงปรับบทความผิดได้เพียงตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง ส่วนการกำหนดโทษก็ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณทั้งกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่ไม่ว่าในทางใด ทั้งนี้ ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 3 คดีนี้ผู้ต้องหาในคดียาเสพติดคดีอื่นแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจว่า ซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 1 จึงมีการล่อซื้อและจับจำเลยทั้งสองได้ในรถกระบะพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง 1,000 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 22.927 กรัม ที่จำเลยทั้งสองมาส่งตามที่มีการล่อซื้อในราคา 60,000 บาท พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้ผู้ต้องหาดังกล่าว และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้ล่อซื้อ จึงย่อมทำให้เกิดการแพร่กระจายแก่ผู้เสพหลายคนโดยสภาพ ถือเป็นการกระทำให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชนแล้ว กรณีจึงต้องลงโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมายใหม่ มาตรา 90, 145 วรรคสอง (2) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 20 ปี อันเป็นบทกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองมากกว่าตามกฎหมายเดิม ตามมาตรา 66 วรรคสาม ที่มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต สำหรับโทษปรับก็ต้องลงโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมายใหม่ มาตรา 145 วรรคสอง (2) ซึ่งมีระวางโทษปรับ ตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท อันเป็นคุณกว่าตามกฎหมายเดิม มาตรา 66 วรรคสาม ที่มีระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000,000 บาท ถึง 5,000,000 บาท พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสอง (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยทั้งสอง คนละ 15 ปี และปรับคนละ 1,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ลดโทษให้ 1 ใน 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 6 เดือน และปรับ 500,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 11 ปี 3 เดือน และปรับ 750,000 บาท


อ้างอิง ข่าวศาลฎีกาฉบับที่ 4/2565


ประมวลกฎหมายยาเสพติด แก้ไข ปี 2564

               มาตรา 90 ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือ มีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เว้นแต่เป็นกรณี ที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 34 หรือมาตรา 35 (3)

               มาตรา 145 ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 90  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านห้าแสนบาท

               ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำ ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท

               (1) การกระทำเพื่อการค้า

               (2) การก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน

               (3) การจำหน่ายแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี

               (4) การจำหน่ายในบริเวณสถานศึกษา สถานอันเป็นที่ เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด หรือสถานที่ราชการ

               (5) การกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย

               (6) การกระทำโดยมีอาวุธหรือใช้อาวุธ

               ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองเป็นการกระทำดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต

               (1) การกระทำโดยหัวหน้า ผู้มีหน้าที่สั่งการ หรือผู้มีหน้าที่ จัดการในเครือข่ายอาชญากรรม

               (2) การทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือ ความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป