04 ธันวาคม 2565

การจัดการมรดก

คุณสมบัติของผู้จัดการมรดก

                 คุณสมบัติและความสามารถของผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดก

                    ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 1718 บุคคลเหล่านี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้

                    1. ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ 

                    2. บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ

                    3. บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย

                จากบทบัญญัติดังกล่าวนั้น คำว่าบุคคลวิกลจริต ตามความหมายทั่วไปที่คนรู้จักคือ คนบ้าไม่สบประกอบ ส่วนบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถนั้นให้รวมถึงบุคคลซึ่งไร้ความสามารถ คือบุคคลผู้ไม่สามารถประกอบกิจการงานใด ๆ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง และบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลายให้รวมถึงผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวด้วย


เจ้ามรดก

             คำว่า เจ้ามรดก ก็คือ ผู้ที่ถึงแก่ความตายและมีทรัพย์มรดกทิ้งไว้ให้ทายาท ซึ่งทายาทนั้นก็มีอยู่สองชนิดคือ ทายาทตามกฎหมายและทายาทโดยพินัยกรรม

                1. ทายาทตามกฎหมาย มี 6 ลำดับ คือ (ทายาทในทางกฎหมายแพ่ง )

                    1.1 ผู้สืบสันดาน หมายถึงบุตรของเจ้ามรดก

                    1.2 บิดามารดา

                    1.3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

                    1.4 พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

                    1.5 ปู่ ย่า ตา ยาย

                    1.6 ลุง ป้า น้า อา

                ส่วนคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นทายาทโดยธรรมเช่นกัน

                2. ทายาทโดยพินัยกรรม คือบุคคลที่เจ้ามรดกใด้ทำพินัยกรรมและยกทรัพย์มรดกให้บุคคลนั้น เป็นใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นญาติ พี่น้อง ทายาทโดยพินัยกรรมนั้นมีสิทธิได้รับมรดกเฉพาะทรัพย์ที่เจ้ามรดกระบุไว้ในพินัยกรรมเท่านั้น


การแบ่งทรัพย์มรดก

             เมื่อเจ้ามรดกได้เสียชีวิตลง ทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตจะตกแก่ทายาทโดยผลของกฎหมายทันที เนื่องจากทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับ แต่ละคนจะมีสิทธิได้รับมรดกเท่าใหร่นั้น มีหลายกรณี เช่น

            กรณีที่ 1. เจ้ามรดกแต่งงานจดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน คู่สมรสยังมีชีวิตอยู่ บิดามารดาของเจ้ามรดกเสียชีวิตแล้ว ผู้มีสิทธิได้รับมรดกคือ คู่สมรสและบุตรทุกคนได้เท่ากัน ๆ กัน

                    ตัวอย่าง เจ้ามรดกมีคู่สมรส และบุตร 2 คน ดังนั้นจึงมีทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก 3 คน ได้รับเท่า ๆ กัน

            กรณีที่ 2. เจ้ามรดกแต่งงานจดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน คู่สมรสยังมีชีวิตอยู่ บิดามารดาของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ผู้สิทธิได้รับมรดกคือ บิดามารดาของเจ้ามรดก คู่สมรส และบุตรทุกคนได้เท่ากัน ๆ กัน

                ตัวอย่าง บิดามาดา (1 ส่วน) คู่สมรส (1 ส่วน) และบุตร 2 คน (คนละ 1 ส่วน) เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก

            กรณีที่ 3. เจ้ามรดกแต่งงานจดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน คู่สมรสเสียชีวิตแล้ว บิดามารดาของเจ้ามรดกเสียชีวิตแล้ว ผู้มีสิทธิได้รับมรดกคือบุตรทุกคนได้รับเท่า ๆ กัน  

            กรณีที่ 4. เจ้ามรดกแต่งงานจดทะเบียนสมรส คู่สมรสยังมีชีวิตอยู่ ไม่มีบุตรด้วยกัน บิดามารดาของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ผู้สิทธิได้รับมรดกคือ คู่สมรสได้รับ 1 ส่วน บิดามารดาได้รับ 1 ส่วน

            กรณีที่ 5. เจ้ามรดกแต่งงานจดทะเบียนสมรส คู่สมรสไม่มีชีวิตอยู่ ไม่มีบุตรด้วยกัน บิดามารดาของเจ้าของมรดกยังมีชีวิตอยู่ ผู้สิทธิได้รับมรดกคือ บิดามารดาได้รับทรัพย์มรดกทั้งหมด

            กรณีที่ 6. เจ้ามรดกไม่มีคู่สมรส ไม่มีบุตร บิดามารดาเสียชีวิต มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ผู้สิทธิได้รับมรดกคือ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ได้รับเท่า ๆ กัน

            กรณีที่ 7. เจ้ามรดกเป็นบุตรของบิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกัน บิดามารดายังมีชีวิตอยู่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ผู้สิทธิได้รับมรดกคือ บิดามารดาได้รับ 1 ส่วน พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันได้รับคนละ 1 ส่วน

            หมายเหตุ  

                    - คู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก็มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย หากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างเป็นสามีภรรยากัน

                    - บุตรของบิดาที่เกิดจากคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันจะไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกเลย

                    - บุตรของบิดาที่เกิดจากคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส จะมีสิทธิได้รับมรดกต่อเมื่อบิดาได้จดทะเบียนรับรองบุตร หรือศาลมีคำสั่งให้เป็นบุตรของผู้ตาย

                    - คำว่า " บิดามารดา " หมายถึง 

                            1. ทั้งบิดาและมารดายังมีชีวิตอยู่มีสิทธิได้รับมรดก 1 ส่วน หรือ

                            2. บิดายังมีชึวิตอยู่ หรือมารดายังมีชีวิตอยู่ มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก 1 ส่วน


การรับรองบุตร

                เมื่อชายและหญิงอยู่กินกันฉันสามีภรรยาหรือแต่งงานกันโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน บุตรที่เกิดมามีสถาณะเป็นบุตรของฝ่ายหญิงเท่านั้น มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของมารดา ในทางกฎหมายแพ่งไม่ถือว่าเป็นบุตรของบิดาเนื่องจากบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน บุตรจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของบิดา

                บุตรซึ่งเกิดจากบิดามารดาที่มิได้จดทะเบียนสมรสกันก็มีสิทธิได้รับมรดกของบิดาได้ แม้ว่าบิดาไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร แต่บิดาให้ใช้นามสกุล ส่งเสียให้เล่าเรียนให้ได้รับการศึกษา เลี้ยงดูและแสดงออกต่อ  บุคลภายนอกว่าเป็นบุตรมาโดยตลอด ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นการรับรองบุตรโดยพฤติการณ์แล้ว ทำให้บุตรนั้นเป็นทายาทโดยธรรมของบิดาผู้ตายด้วย จึงมีสิทธิได้รับมรดกภายหลังจากบิดาเสียชีวิตแล้ว

                ส่วนบุตรที่เกิดจากคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก็มีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเช่นกัน ถ้าบิดาจดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตรถูกต้องตามกฎหมาย


ทายาทอยู่ไกลไม่สะดวกมาให้ความยินยอมในการจัดการมรดก

                     ปัญหาอย่างหนึ่งในการยื่นคำร้องของจัดการมรดก คือ ทายาทผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดกของผู้ตายอยู่ใกล เช่น อยู่ต่างจังหวัด หรืออยู่ต่างประเทศหรือไม่สะดวกมาเซ็นหนังสือให้ความยินยอม มีวิธีแก้ไขโดย

                    1. หากทายาทอยู่ในเมืองไทย ให้ทายาทผู้นั้นส่งเอกสารมาทางไปรษณีย์ โดยให้ทายาทคนนั้นถ่ายสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมเขียนรายละเอียดลงไปในสำเนาเอกสารนั้น ตัวอย่าง " ข้าพเจ้า สามชาย เจริญดี ยินยอมให้ นางสมหญิง เจริญดี มารดาของข้าพเจ้า เป็นผู้จัดการมรดกขอบิดาได้ และมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลได้ทั้งสิ้น..... " ประมาณนี้ 

                    2. กรณีทายาทอยู่ต่างประเทศและสามารถติดต่อได้ ก็ให้ทายาทคนใดคนหนึ่งส่งอีเมล หรือส่งไลน์ หรือใช้สื่อโซเซียลไปถาม แล้วให้ทางทายาทคนนั้นตอบกลับมา จากนั้นเราก็พิมพ์เอกสารตอบกลับนั้นแนบส่งให้ศาลไปด้วย


ยักยอกทรัพย์มรดก

                     มีผู้คนไม่น้อยที่เข้าใจผิดคิดว่า การเป็นผู้จัดการมรดกนั้นคือผู้มีสิทธิได้รับมรดกผู้ตายทั้งหมด จะทำอย่างไรกับทรัพย์มรดกก็ได้ จะโอนให้ใคร จะขายให้ใคร ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด จึงทำให้ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกคนอื่นยื่นคำร้องหรือฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลข้อหายักยอกทรัพย์มรดก แล้วศาลก็พิพากษาให้ผู้จัดการมรดกต้องโทษจำคุก เพราะความโลภมาก็เยอะ 

                    ตัวอย่างของการที่ผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์มรดกไปจากกองมรดก เช่น ไปโอนที่ดินเป็นชื่อผู้จัดการมรดกในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วก็โอนเป็นชื่อของตนเองอีกทีแล้วขายไปเลย หรือขายในฐานะผู้จัดการมรดกให้คนอื่นไปเลย พอได้เงินมาแทนที่จะแบ่งให้ทายาทคนอื่นกลับไม่แบ่ง หรือโอนไปให้ลูกหลานของตัวเองไม่สนทายาทคนอื่นที่มีสิทธิ แบบนี้มักจะถูกทายาทคนอื่นฟ้องคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ข้อหายักยอกทรัพย์มรดกได้

                    "มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

                    กรณี้นี้ทายาทคนอื่นก็มักใช้เป็นข้ออ้างในการร้องถอดถอนผู้จัดการมรดกคนเดิมได้ด้วย และยังฟ้องคดีกำจัดไม่ให้รับมรดกอีกด้วย

                    จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนที่ได้ว่าความคดีมาคู่ความมักตกลงกันได้ เนื่องจากคู่ความในคดีเป็นพี่น้องเป็นเครือญาติกัน และศาลเองก็ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งกัน ไม่อยากมีคำสั่งหรือคำพิพากษาไปทางทางใดทางหนึ่งเพราะไม่เป็นผลดีต่อพี่น้อง เครือญาติที่ต้องเกิดความขัดแย้งกันไปตลอดหากศาลได้มีคำสั่งหรือพิพากษา จึงให้คู่ความพูดคุยตกลงกัน

                    ดังนั้นผู้จัดการมรดกต้องเข้าใจและพึ่งระวังอยู่เสมอว่าการเป็นผู้จัดการมรดกนั้นเป็นเพียงผู้มีหน้าที่จัดการมรดกของเจ้ามรดกเท่านั้น แม้ตนเองจะมีสิทธิในมรดกนั้นก็ให้ได้รับเพียงส่วนที่ตนพึ่งมีสิทธิได้รับเท่านั้น ทำหน้าที่ของตนตามที่ทายาทคนอื่นให้ความไว้วางใจ ไม่โลภมากอยากได้ส่วนของทายาทคนอื่น ก็จะไม่เกิดปัญหาตามมา

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น